www.greeneryclinic.com

โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อค โรคยอดฮิตในขณะนี้ เนื่องจากทุกวันนี้การใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว และโรคนิ้วล็อคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่ไม่เห็นจะมีทีท่าว่าจะเป็นได้ ดังนั้นเรามาดูกันว่าโรคนิ้วล็อคที่ว่านี้เกืดขึ้นได้อย่างไร โรคนิ้วล็อค เป็นอาการที่นิ้วมือแข็ง หดเกร็ง ไม่สามารถขยับได้ เนื่องจากการใช้นิ้วมือในท่าเดิมๆ เช่น กดแป้นพิมพ์ เล่นเกมส์ หิ้วของหนักๆ การใช้กรรไกรตัดสิ่งของแข็งๆ ที่ใช้แรงบีบมาก และตัดเป็นเวลานานๆ อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ต่อเนื่องกัน เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้จะทำให้เส้นเอ็นของนิ้วหดเกร็ง ไม่สามารถขยับได้ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคได้สูง โดยปกติบุคคลที่จะมีอาการนิ้วล็อคดังกล่าวจะมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป แต่เมื่อเห็นการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันแล้ว เป็นไปได้ที่โรคนิ้วล็อคสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยแฉพาะวัยรุ่น วัยทำงาน และพบได้ในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ โรคเบาหวาน อีกด้วย

อาการของโรคนิ้วล็อค

สำหรับอาการเริ่มต้นจะมีอาการเจ็บบริเวณฐาน ปวดตึงน้อยๆที่โคนนิ้ว เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ ในระยะแรกนี้นิ้วจะยังงอและเหยียดได้ตามปกติ ระยะต่อมาจะมีอาการติด เมื่อขยับนิ้วมือจะรู้สึกเจ็บ งอนิ้วไม่เข้าและเหยียดนิ้วจะสะดุด เมื่อมีอาการมากขึ้นบางรายนิ้วแข็ง โก่งงอ นิ้วเกยกัน บวมชา มือไม่ค่อยมีกำลัง หากไม่รีบรักษานิ้วมือข้างเคียงก็จะยึดติดแข็งจนใช้งานไม่ได้ด้วย โดยอาการนิ้วล็อคมักเกิดขึ้นกับมือข้างที่ถนัดใช้งานซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นมือขวา เพราะต้องใช้มือในการหยิบจับทำกิจกิจวัตรประจำวันอยู่ตลอดเวลา

สาเหตุของการเกิดภาวะนิ้วล็อค

เป็นกลุ่มอาการที่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มือทำงานอย่างหนัก ทำซ้ำๆ สะสมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้หญิงแล้วมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นนิ้วล็อคมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงในชีวิตประจำวันจะใช้ทำงานบ้านจุกจิก หิ้วของจ่ายตลาด ซักผ้า บิดผ้า ตากผ้า งานครัว ทำสวน ส่วนผู้ชาย จะเป็นในกลุ่มที่ทำงานช่าง เล่นกอร์ฟ เล่นคนตรี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเหตุให้เกิดภาวะนิ้วล็อคทั้งสิ้น โดยเมื่อเราใช้งานนิ้วมือบ่อยๆ ก็จะทำให้เส้นเอ็นเกิดการหนาตัวขึ้น การงอข้อนิ้วมือเกิดการอักเสบ ยิ่งเมื่อเราเหยียดนิ้วหรือเคลื่อนไหวมากๆก็จะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงมากขึ้น

การรักษาโรคนิ้วล็อคเบื้องต้น

  1. ใช้ยาหม่อง นวดบริเวณนิ้วมือที่ปวด นวดบริเวณโคนนิ้วที่นิ้วล็อคโดยงอนิ้วและเหยียดออก
  2. แช่น้ำอุ่น โดยใส่น้ำอุ่นจัดๆ ผสมกับน้ำเย็น แล้วแช่มือ งอและเหยียดนิ้วสลับร้อนเย็น 3 รอบ ครั้งละ 15-20 นาที ทำเช่นนี้วันละครั้งไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการจะทุเลาลง เพื่อเป็นการคลายกล้ามเนื้อ
  3. พยายามให้มืออยู่นิ่งๆ ไม่ขยับนิ้ว ดีดนิ้ว หรือบิดนิ้วแรงๆ เพื่อป้องกันเส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
  4. งดกิจกรรมที่เป็นสาเหตุ เช่น การหิ้วของหนัก เพราะคนหิ้วมักจะใช้มือจับหูของถุงพลาสติก ทำให้นิ้วต้องถูกแรงถ่วงอย่างหนัก การใช้นิ้วหิ้วของจ่ายตลาดจะทำให้เส้นเอ็นในมืออักเสบ และเกิดอาการนิ้วล็อค หากต้องจ่ายตลาดเป็นประจำ ให้ใช้รถลากเล็กๆ ใส่ของแทนการหิ้วของหนักๆ
  5. กรณีหากทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ที่ต้องอยู่กับเม้าส์ทุกวัน วิธีนี้จะป้องกันนิ้วล็อคได้ คือ กางนิ้วมือทั้งสองข้างออก กำและเหยียดนิ้วทั้งหมด 5 ครั้ง ต่อไป หมุนและงอนิ้วเท่าที่จะทำได้ นับ 1-10

การรักษาโรคนิ้วล็อคกับแพทย์

  1. การใช้ยารับประทาน ลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นวิธีการรักษาอาการนิ้วล็อคเบื้องต้น เพื่อไปลดการอักเสบและบวมของเนื้อเยื่อ
  2. การรักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์ เป็นวิธีการช่วยรักษาโรคนิ้วล็อคได้ในระยะต้นๆ ซึ่งมีผลช่วยลดการบวมอักเสบของเนื้อเยื่อเฉียบพลัน ลดการแข็งตัวของผังผืด จึงเป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุด แต่จะบรรเทาให้ดีขึ้นได้แค่ชั่วคราว จะสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก ถ้าหากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือแบบเดิมๆ อยู่ ในการฉีดยาจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหมอเป็นอย่างดี มีข้อจำกัดไม่ควรฉีดยา Steroid เกิน 2-3 ครั้ง ต่อนิ้ว
  3. การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด ด้วยการทำอัลตร้าซาวน์ การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว และการออกกำลังกายนิ้วมือด้วยการนวดเบาๆ บริเวณโคนนิ้ว ซึ่งจะรักษาได้ดีในช่วงที่เป็นนิ้วล็อคในระยะแรกและระยะที่สอง
  4. การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อควิธีสุดท้ายที่ดีที่สุด ในรายที่เป็นรุนแรงหรือการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดโรคนิ้วล็อคนี้แบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิดบาดแผล เป็นวิธีแบบสากลมาตรฐาน ที่ทำกันในห้องผ่าตัด โดยการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่มีปมใหญ่ หรือมีพังผืดหนาก่อตัวอยู่ออก แผลจะเปิดกว้าง ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก หรือสัมผัสนิ้ว ประมาณ 2 สัปดาห์ และการผ่าตัดแบบปิด เป็นวิธีใหม่ โดยใช้ยาชาและเจาะรูเล็กๆ บริเวณที่ข้อมือใช้เข็มเขี่ยหรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออก บาดแผลจะยาวแค่ประมาณ 1-2 เซนติเมตร แทบจะไม่มีแผลให้เห็น การดูแลแผลจะง่าย และมีโอกาสการติดเชื้อได้น้อย แผลหายเร็ว

การป้องกันความเสี่ยงการเป็นนิ้วล็อค

  1. หลีกเลี่ยงการหิ้วของหนักเกินไป เช่น หิ้วตะกร้า ถุงพลาสติก หรือ ถังน้ำ ควรจะใช้รถเข็นแทน แต่ถ้าจำเป็นต้องหิ้วก็ต้องใช้ผ้าขนหนูรองถุงหิ้วทั้งสอง เพื่อให้ช่วยรับน้ำหนักของฝ่ามือ จะช่วยลดการเกิดนิ้วล็อคและปวดเจ็บของมือได้
  2. ไม่ควรบิดผ้าหรือซักผ้าด้วยมือเปล่า มากเกินไป ยิ่งถ้าเราบิดผ้าแห้งมากเท่าไหร่ จะทำร้ายปลอกเอ็นข้อมือ ถ้าทำบ่อยๆ จะเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดนิ้วล็อคได้ แนะนำให้ซักเครื่องด้วย
  3. หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ บีบ จับ หรือยกของหนักประจำ เป็นเวลานานๆ ควรใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้น ใช้ฟองน้ำหรือผ้านุ่ม ๆพันรอบข้อมือขณะจับสิ่งของ ในขณะใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น เลื่อย ไขควง ค้อน รถเข็น รถลาก เป็นต้น
  4. เมื่อรู้สึกเมื่อยล้า หรือระบมมือ ควรพักผ่อนมือบ้างเป็นระยะ แบมือ- กำมือหลวมๆ ทำเช่นนี้ สัก 10 นาที ก็เป็นวิธีการป้องกันการเกิดนิ้วล็อคเบื้องต้นด้วยตัวเองได้
  5. การเล่นกีฬาประเภท ตีกอล์ฟ การตีเทนนิส ถือได้ว่ามีโอกาสเกิดนิ้วล็อคมากกว่ากีฬาประเภทอื่น เพราะต้องใช้กำลังแขนและข้อมือในการตีลูกอย่างแรงและต่อเนื่อง จึงควรใช้ผ้าหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่ม และพยายามหลีกเลี่ยงการเล่นต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
  6. กายภาพบำบัดนิ้วมือด้วยตัวเอง ก่อนที่จะเป็นโรคนิ้วล็อค ด้วยวิธีง่ายๆ โดยการยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันข้อมือกระดกขึ้น-ลง ให้ปลายนิ้วเหยียดตรง แล้วค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อย ทำอย่างท่านี้ซ้ำๆประมาณ 5-10 ครั้ง ฝึกกำมือ-แบมือบ่อยๆ เพื่อบริหารการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือ